ฮอร์โมนเป็นตัวกำหนดความเป็นหนุ่มสาวในร่างกายของคนเรา ในผู้หญิงฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญต่อชีวิต คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน สำหรับผู้ชายฮอร์โมนที่มีผลต่อสมรรถภาพ และความแข็งแรงของร่างกาย คือ ฮอร์โมนที่ชื่อว่า "แอนโดรเจน" ถึงแม้ว่าโดยธรรมชาติผู้ชายจะแก่ช้ากว่าผู้หญิง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ผู้ชายจะไม่มีวันแก่ หรือจะอยู่เป็นหนุ่มสองพันปีแต่เพียงฝ่ายเดียวตลอดไป ผู้ชายจะต้องผ่านวัยแห่งความเสื่อมถอยนี้ด้วยเช่นกัน แต่อาจจะไม่ชัดเจนเท่าผู้หญิงที่มีประจำเดือนเป็นตัวบ่งชี้ในการก้าวสู่วัยทอง ความจริง เรื่องของผู้ชายวัยทองไม่ใช่เรื่องใหม่ในทางการแพทย์แต่คงเป็นเพราะผู้ชายแทบทุกคนให้ความสำคัญกับเรื่องสมรรถภาพทางเพศ ว่าเป็นเรื่องสำคัญและยิ่งใหญ่ในชีวิตที่แสดงถึงความเป็นชายชาตรีที่สมบูรณ์ ดังนั้น เมื่อผู้ชายยุคนี้มีปัญหาเรื่องสมรรถภาพทางเพศลดลงเพิ่มมากขึ้น (อันเนื่องมาจากวัยและปัจจัยอื่นๆ) เรื่องของผู้ชายวัยทองจึงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุย และกล่าวถึงกันมากในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ถึงขนาดที่องค์การอนามัยโลกได้ให้การสนับสนุนจัดตั้ง "ชมรมผู้ชายวัยทองนานาชาติขึ้น" โดยมี นายแพทย์บรูโน ลูเนนเฟลด์ สูตินรีแพทย์ชื่อดังชาวอิสราเอล เป็นประธานชมรม ในบ้านเราตอนนี้เรื่องผู้ชายวัยทองกำลังได้รับความสนใจมากเช่นกัน บางคนสงสัยว่าผู้ชายไม่ได้มีประจำเดือนสักหน่อย ทำไมถึงเรียกว่าเป็นวัยหมดประจำเดือนเหมือนผู้หญิงด้วยล่ะ บ้างก็ยังไม่อยากยอมรับว่าตัวเองได้ย่างเข้าสู่วัยเสื่อมถอยแล้ว (แม้ภายนอกจะดูหนุ่มอยู่เพราะเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย) แต่สุดท้ายก็หนีความจริงไปไม่ได้ว่าทุกคนต้องแก่กันทั้งนั้น อยู่ที่จะช้าหรือเร็ว หรือแต่ละคนดูแลตัวเองดีมากน้อยแค่ไหน
อาการวัยทอง : ผู้หญิง-ผู้ชายไม่ต่างกัน
การเปลี่ยนแปลงชีวิตสู่วัยทองของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน ในทางการแพทย์เชื่อว่าถ้าพ่อแม่เข้าสู่วัยทองเร็ว ลูกๆ ก็ถึงวัยทองเร็วกว่าปกติด้วย โดยเฉลี่ยผู้หญิงจะเข้าสู่วัยทองระหว่างอายุประมาณ ๔๘-๕๒ ปี และสำหรับผู้ชายเองก็ไม่ได้แตกต่างจากผู้หญิงมากนัก ฮอร์โมนเอสโตรเจนของผู้หญิงสร้างจากรังไข่ เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนที่ฮอร์โมนขาดไปและไม่มีการตกไข่ ทางการแพทย์จะเรียกหญิงวัยทองว่า เมโนพอส (menopause) ส่วนผู้ชาย ฮอร์โมนแอนโดรเจนจะสร้างจากอัณฑะและมีมากในวัยเจริญพันธุ์ เมื่ออายุมากขึ้นฮอร์โมนแอนโดรเจนจะน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจของผู้ชาย (ทันทีหรือค่อยเป็นค่อยไป) ไม่แตกต่างไปจากผู้หญิง ทางการแพทย์เรียกผู้ชายวัยทองว่า "แอนโดรพอส" (andropause)
อาการที่พบได้ในผู้ชายวัยทอง คือ เครียด หงุดหงิด โกรธง่ายเดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว เหงื่อออกมาก สมาธิลดลง นอนไม่ค่อยหลับ กำลังวังชาลดลง โครงสร้างของร่างกาย เช่น กระดูกต่างๆ เริ่มเสื่อมถอย (แม้จะไม่ชัดเจนเหมือนผู้หญิง) มีความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ กระดูกพรุน ต่อมลูกหมากโต ปัสสาวะออกลำบาก สมรรถภาพทางเพศลดลง ซึ่งเรื่องนี้แหละที่ผู้ชายส่วนใหญ่วิตกกังวลกันมากเป็นพิเศษ การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของผู้ชายวัยทองที่เห็นได้ชัดอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ การเผาผลาญไขมันจะลดลง จึงทำให้มีไขมันส่วนเกินได้ง่าย ดังนั้นผู้ชายวัยทองจึงมักจะลงพุง กล้ามเนื้อลีบเล็กลง แข็งแรงน้อยลง และผมบางมากขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้ฮอร์โมนเพศชายลดลงเร็วกว่าปกติ
นอกจากอายุซึ่งเป็นปัจจัยทางธรรมชาติที่ทำให้ระดับฮอร์โมนเพศชายลดลงแล้ว ปัจจุบันยังมีปัจจัยเสริมอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้ผู้ชายเข้าสู่วัยทองเร็วกว่าปกติ นั่นคือ
1. เรื่องของกรรมพันธุ์
2. การทำงานหนัก และพักผ่อนน้อย
3. มีความเครียดตลอดเวลา
4. ความอ้วน
5. การขาดสารอาหารบางชนิด (เช่น แร่ธาตุสังกะสี เบต้าแคโรทีน)
6. การดื่มเหล้า สูบบุหรี่
7. มีโรคเรื้อรัง (เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไตวาย ฯลฯ)
8. การกินยาบางชนิด (เช่น ยารักษาไทรอยด์)
9. การออกกำลังกายที่มากเกินไป เป็นต้น
สรุปได้ว่า อะไรก็ตามที่ทำให้ร่างกายเสื่อมถอยเร็ว จะทำให้มีการหมดฮอร์โมนเร็วขึ้นด้วยเช่นกัน
ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ชายวัยทอง
ฮอร์โมนเพศชายมีหน้าที่ช่วยเผาผลาญไขมันในร่างกาย ทำให้การกระจายตัวของไขมันเป็นปกติ เมื่อฮอร์โมนดังกล่าวลดลง จะทำให้ไขมันในเลือดสูง หลอดเลือดอุดตันได้ง่าย ดังนั้นผู้ชายวัยทองจึงมักจะลงพุง และเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกี่ยวกับระบบหลอดเลือด (โรคหัวใจ อัมพาต) ได้มาก ขณะเดียวกันฮอร์โมนเพศที่ลดลง จะทำให้ผู้ชายมีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ไม่มีอารมณ์ที่จะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งถ้าหากผู้ชายคนไหนที่ยึดถือเอาเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญยิ่งใหญ่ในชีวิต ภาวะดังกล่าว ก็จะมีผลต่อจิตใจ ความรู้สึก และการดำเนินชีวิตครอบครัวมากทีเดียว โดยเฉพาะถ้าไม่มีการพูดคุยให้เข้าใจกันทั้ง ๒ ฝ่าย ในระยะยาวผลของการขาดฮอร์โมนเพศชายจะทำให้กระดูกบางลง เป็นโรคกระดูกพรุนได้เช่นเดียวกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนทำให้เกิดภาวะกระดูกหักได้ง่าย กล้ามเนื้อจะค่อยๆ ลีบเล็กลง โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ชอบออกกำลังกาย
การรักษาอาการของผู้ชายวัยทอง
การรักษาอาการของผู้ชายวัยทองขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะบุคคล ในทางการแพทย์มีวิธีรักษาอยู่หลายวิธีด้วยกัน อันดับแรกจะเป็นการรักษาทางจิตใจก่อน ซึ่งในบางราย การพูดคุยอย่างเดียวก็สามารถ ฟื้นฟูจิตใจของผู้ป่วยได้ หรือบางรายอาจต้องใช้ยาร่วมด้วย การใช้ยาฮอร์โมนเพศชายเสริม มีตั้งแต่ชนิดกินและชนิดเจลทาผิว ฯลฯ ซึ่งหลายๆ วิธีที่กล่าวถึงนี้ ผู้ป่วยไม่ควรไปซื้อมาใช้เอง ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพราะอาจมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ถ้าใช้ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เมื่อไรที่สังเกตว่า ตัวเองเริ่มมีอาการผิดปกติ หรือสงสัยว่าจะเป็นอาการของผู้ชายวัยทองหรือไม่ ขั้นแรกแนะนำว่าควรจะไปพบแพทย์ (ทางด้านอายุรกรรม : หมอตรวจโรคทั่วไป) ให้ตรวจร่างกายทั่วไปก่อนว่ามีปัญหาเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บอะไรซ่อนแฝงอยู่หรือไม่ ที่ทำให้มีผลกระทบต่อสมรรถภาพทางเพศ เช่น โรคเบาหวาน ไทรอยด์ โรคหัวใจ โรคตับ การใช้ยาบางชนิด ฯลฯ ถ้าหากไม่มีปัญหาเรื่องโรคต่างๆ สูติ-นรีแพทย์จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องครอบครัว ชีวิตคู่ และแพทย์ทางด้านยูโรวิทยา (ระบบทางเดินปัสสาวะ) จะดูแลรักษาในเรื่องการใช้ยา การเสริมซิลิโคน หรืออื่นๆยืดเวลาแห่งความเป็นหนุ่มให้นานที่สุด ถึงแม้มนุษย์จะไม่สามารถเอาชนะความเสื่อมถอยได้ แต่ก็พอมีวิธีที่จะยืดเวลาแห่งความเป็นหนุ่ม เป็นสาวให้ยืนยาวที่สุดเท่าที่จะทำได้ภายใต้เงื่อนไขของธรรมชาติเอง นั่นคือ
1. มีวินัยในการดำเนินชีวิตที่ดี
2. พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย ๖-๘ ชั่วโมง หรือหากนอนหัวค่ำได้จะยิ่งดี เพราะฮอร์โมนเพศชายจะสร้างตอนกลางคืน
3. งดสูบบุหรี่ และดื่มเหล้า ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายแทบทุกระบบ
4. กินอาหารที่มีประโยชน์ ถูกสัดส่วน ไม่มากหรือน้อยเกินไป กินอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และ ไขมันให้น้อยที่สุด
5. มองโลกในแง่ดี พยายามอย่าให้มีความเครียด
6. ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ
หลายคนคงทราบดีถึงกฎธรรมชาติข้อหนึ่ง นั่นคือ อวัยวะใดก็ตาม ถ้าหากไม่มีการใช้งานหรือใช้ประโยชน์ จะเสื่อมลงเรื่อยๆ แต่ถ้าหากมีการใช้งานคือออกกำลังกายเป็นประจำ จะทำให้ร่างกาย แข็งแรง ปอดแข็งแรง ระบบประสาทตื่นตัวตลอดเวลา ร่างกายกระฉับกระเฉง สมรรถภาพทางเพศไม่เสื่อมถอยเร็วกว่าวัยอันควร แต่ดูเหมือนวิธีง่ายๆ ที่ได้ผลที่สุด กลับมีคนปฏิบัติตามได้น้อย ส่วนใหญ่มักจะละเลยตัวเองจนเกิดปัญหา แล้วจึงค่อยหาวิธีแก้ไขภายหลัง ซึ่งหลายๆ ครั้ง หลายๆ กรณีบางทีก็สายเกินแก้ไขได้ สำหรับผู้ที่สามารถจัดการกับชีวิตได้เหมาะสมลงตัว บางทีคุณอาจก้าวข้ามวัยทองของชีวิตไปโดยไม่มีปัญหาอะไรเลยก็ได้
Reference : ข้อมูลจากมูลนิธิหมอชาวบ้าน