โสม (Ginseng) ตอน 2

โสมเกาหล  

ข้อมูลการศึกษาวิจัย จากรายงานการทดลอง พบว่าโสมมีคุณสมบัติเป็น “Adaptogen” ซึ่งหมายถึง ช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับภาวะกดดัน และเป็นทั้งยาบำรุงร่างกาย

โสมมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง ที่สำคัญๆ ได้แก่

1. เพิ่มสมรรถนะในการทำงานของร่างกายให้สูงขึ้น เนื่องจากโสมมีสรรพคุณในการต้านความเมื่อยล้า (antifatigue effect) จากกลไกร่วมกันหลายอย่าง เช่น การเพิ่มการดูดซึมออกซิเจนของผนัง เซลล์จึงสามารถสร้างพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้นโสมยังช่วยปรับการเต้นของหัวใจ ให้กลับสู่ภาวะปกติเร็วขึ้น ร่างกายจึงเหนื่อยช้าลง มีความอดทนต่อการทำงานมากขึ้น ซึ่งช่วยทำให้ผู้สูงอายุมีสมรรถภาพการทำงานของร่างกายดีขึ้น และช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยในระหว่างพักฟื้น ให้หายเจ็บป่วย เป็นปกติได้เร็วขึ้น และเป็นสาเหตุที่ทำให้เชื่อกันว่าโสมมีสรรพคุณกระตุ้นสมรรถนะทางเพศ ทั้งนี้มีรายงานว่าโสมมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดด้วย

2. คุณสมบัติต่อต้านความเครียด (antistress effect) โดยจะช่วยปรับร่างกาย และจิตใจ ให้ทนต่อความกดดันจากภายนอก โดยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนที่มีผลป้องกัน และลดความเครียดจากต่อมใต้สมอง และช่วยคลายความวิตกกังวล

3. กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง มีผลให้รู้สึกมีชีวิตชีวา กระปรี้กระเปร่า โดยไม่ทำให้เกิดการอ่อนเพลีย หรืออ่อนล้าตามมา เหมือนยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางอื่นๆ โดยพบว่า ซาโปนินจากโสม เมื่อให้ในขนาดน้อยๆ จะมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง แต่เมื่อให้ในขนาดสูงๆจะมีฤทธิ์กดประสาท ดังนั้นควรรับประทานในขนาดที่พอเหมาะนะคะ มิเช่นนั้นอาจได้ผลตรงกันข้าม

4. เพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน โดยมีผลกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแบบไม่เฉพาะเจาะจง มีรายงานว่าเพิ่มเม็ดเลือดขาวบางชนิดจึงเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอม

5. มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยมีฤทธิ์กระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งอินซูลิน มาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ

6. ชะลอความแก่ เนื่องจากโสมมีฤทธิ์ ทำลายอนุมูลอิสระของออกซิเจนที่เกิดจากการทำลายไขมัน (lipid oxidation) อนุมูลอิสระนี้มีอนุภาพทำลายเนื้อเยื่อต่างๆ ให้เสื่อมสลายลงก่อนเวลาอันควร ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลทำให้เกิด “ชราภาพ (aging)” เนื่องจากผลของโสมในการปรับสภาพร่างกาย และจิตใจให้ทนต่อความกดดัน เชื่อว่าช่วยเสริมฤทธิ์กันทำให้โสมมีสรรพคุณ “ชะลอความชรา” ได้ ขนาดที่ใช้ 0.5-2 กรัม/วัน (รากแห้ง) ควรใช้ในขนาดที่แนะนำ เพราะการใช้มากเกินไป อาจได้ผลที่ตรงกันข้าม และมีรายงานว่าการใช้ในขนาดสูงเกินไป ทำให้เส้นเลือดแดงในสมองอักเสบได้

ข้อควรระวังในการใช้

1.ไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานๆ ควรใช้เป็นช่วงๆ คือนาน 1-2 เดือน แล้วหยุด 1-2 เดือน แล้วเริ่มใหม่

2. ควรทานโสมก่อนอาหาร 3 ชั่วโมง และไม่ควรทานพร้อมวิตามินซี หรือผลไม้รสเปรี้ยว

3. อาจพบอาการข้างเคียงถ้าใช้ในขนาดสูงกว่าที่แนะนำ เช่นความดันโลหิตสูง ตื่นเต้น กระวนกระวาย ท้องเสีย เป็นผื่นที่ผิวหนัง นอนไม่หลับ ซึ่งเรียกว่า “ginseng abuse syndrome”

4. ระวังการใช้ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง เบาหวาน ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด

5. ควรระวังการใช้ร่วมกับยาลดน้าตาลในเลือด เนื่องจากอาจทำให้ระดับน้ำาตาลในเลือดต่ำเกินไป เนื่องจากโสมมีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดด้วย ดังนั้นในผู้ป่วยเบาหวาน ควรกินโสมพร้อมอาหาร แต่ควรปรึกษาแพทย์ของท่านก่อนการใช้โสมจะดีกว่า

6. ระวังการใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น warfarin เนื่องจากยาทั้งสองอาจเสริมฤทธิ์กัน มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด

7. ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ให้นมบุตร และในเด็ก เนื่องจากไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในมนุษย์ ประเมินผล : จากการศึกษาพบว่าโสมเกาหลี และโสมอเมริกันเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการ รักษาโรคต่างๆได้ แต่การทดลองทางคลินิกยังไม่มากพอ และผลบางอย่างยังเป็นที่โต้แย้งกันอยู่ แต่ก็มีการศึกษากันมากพอสมควรกว่าสมุนไพรอื่นๆ ซึ่งพบว่าฤทธิ์เกี่ยวกับการเพิ่มภูมิคุ้มกัน และต้านการล้า หรือภาวะเครียดนั้นเป็นฤทธิ์ที่ค่อนข้างเด่นชัดกว่าฤทธิ์อื่นๆ อย่างไรก็ตามควรเปรียบเทียบราคากับผลที่ได้รับด้วยว่าคุ้มกันหรือไม่

สำหรับโสมชนิดอื่นๆ ที่อยู่ในตระกูลโสม มีอีกมากมายเลยค่ะ แต่ว่าข้อมูลการศึกษาวิจัยยังไม่เพียงพอ จึงยังไม่ได้แนะนำให้ใช้รับประทานได้อย่างปลอดภัยค่ะ ควรรอผลการวิจัยด้านต่างๆก่อน อาทิเช่น โสมจีน หรือ Sanchi Ginseng เป็นรากของ P. notoginseng Burk. (P. wangianus Sun.) เป็นโสมที่เพาะปลูกในประเทศจีน มณฑลยูนาน และกวางสี และบางส่วนของประเทศเวียดนาม ใช้ในตารายาจีนเพื่อห้ามเลือด แก้ฟกบวม โสมญี่ปุ่น (Japanese Chitkusetsu Ginseng) เป็นโสมที่มาจาก P. pseudoginseng Wall. subsp. Japonicus Hara (P. japonicus C.A. Meyer) ในญี่ปุ่นใช้แทนโสมเกาหลี, ใช้แก้ปวดเกร็งท้อง โสมฮิมาลายัน ได้จาก P. pseudoginseng subsp. Himalaicus Hara ขึ้นทั่วไปในธรรมชาติที่เนปาล และมณฑลฮิมาลายันตะวันออก โสม Zhuzishen ได้จาก P. pseudoginseng var. major (Burk) C.Y. Wu et K.M. Feng (P. major (Burk.) Ting) พบในแถบตะวันตกของประเทศจีน ทั้ง โสมฮิมาลายัน และ โสม Zhuzishen ใช้ตำหรับยาจีน

โสมไซบีเรีย คือรากของ Acanthopanax senticosus (Eleutherococcus senticosus) ใช้ตำรายาจีน

 

Reference :

1.Christensen LP. Chapter 1 Ginsenosides: Chemistry, Biosynthesis, Analysis and Potential Health effects. Advances in Food and Nutrition Research 2008, 55, 1-99. 2.Vuksan V, Sung M-K, Sievenpiper JL, et al. Korean and red ginseng (Panax ginseng) improves glucose and insulin regulation in well control, type 2 diabetes: results of a randomized, double-blind, placebo-controlled study of efficacy and safety. Nutrition, Metabolism and Cardiovascular Diseases, 2008, 18(1), 46-56. 3. Coates PM, Blackman MR, CraggGM, Levine M Moss J, White JD. Encyclopedia of Dietary Supplements. Marcel Dekker: USA, 2005 4. McDermott J. Complementary and Alternative Medicine. In Berardi RR, et al, eds. Handbook of Nonprescription Drugs. An Interactive Approach to self care. 14th ed. McGraw-Hill Inc: USA, 2004. 5. นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. ความก้าวหน้าทางเภสัชวิทยา ของยา และอาหารเสริมสาหรับผู้สูงอายุ. ไทยมิตรการพิมพ์, กรุงเทพมหานคร, 2540

Last modified on Tuesday, 30 October 2012 15:54